วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วิเคราะห์ตัวละครเรื่องสังข์ทอง

วิเคราะห์ตัวละคร
พระสังข์
     พระสังข์เป็นตัวเอกที่มีรูปงามตามแบบการสร้างตัวเอกในวรรณคดีไทย ทั่วไป  แต่ในตอนเด็กปรากฏเป็น  ๒  รูป คือ รูปหอยสังข์กับรูปกุมาร ส่วนตอนเป็นหนุ่มก็มี  ๒  รูปเช่นเดียวกัน คือ รูปเงาะกับรูปทอง ทั้งรูปหอยสังข์และรูปเงาะเปรียบเสมือน  “ เกาะ”  คุ้มครองพระสังข์  ในตอนเด็กเมื่อนางจันท์เทวีต่อยหอยสังข์แตกแหลกไป  พระสังข์ร้องไห้คร่ำครวญ  ต่อว่าพระมารดาว่า  พระแม่ต่อยสังข์ดังชีวิต  จะชมชิดลูกนี้สักกี่วัน  ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยๆ  ถึงภัยที่จะมาถึงและต่อมาพระองค์ก็ถูกจับไปถ่วงน้ำ  เพราะเมื่อไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในหอยสังข์  ชาวบ้านก็เห็นและเล่าลือกันต่อๆไป  จนท้าวยศวิมลและนางจันทารู้  ส่วนรูปเงาะนั้นพระสังข์กราบทูลท้าวสามลว่า “ ซึ่งแปลงมาจะหาคู่ครอง ” ซึ่งแสดงว่ารูปเงาะนี้นอกจากจะเป็นของวิเศษ  เป็นเกราะกำบังแล้ว  ยังเป็นเครื่องมือในการหาคู่ครองที่เหมาะสมคือมีบุญบารมีเทียบเท่ากัน ด้วย





ตัวโกง
     ตัวโกง คือตัวละครฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอก  มักมีบทบาทร้ายเพียงด้านเดียว  ไม่มีคุณธรรม  ไม่ปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรม  บทบาทของตัวโกงจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน  คือทำให้คู่รักหรือสามีภรรยาต้องพลัดพรากจากกัน หรือมีพฤติการณ์ไม่ดี  คอยอิจฉาริษยาตัวเอกและคนทั่วไป
     ตัวโกงในวรรณคดีไทย  มักจะมีแต่ความร้ายกาจอย่างเดียว ความเลวร้ายนั้นมักเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล  และช่วยให้เรื่องดำเนินไปได้ตามความมุ่งหมาย ตัวละครที่มีบทบาทเด่นด้านนี้คือ  นางจันทาและหกเขย
นางจันทา
     บทบาทของนางจันทาเป็นบทบาทตัวโกงอย่างแท้จริง  เป็นคนใจบาปหยาบช้า  เหี้ยมโหด  ขี้อิจฉาริษยา  ทำเรื่องร้ายๆ ได้ทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งย่อยับไป  นางจันทาเป็นเมียน้อย ซึ่งสำหรับสังคมไทยในสมัยโบราณนั้น ความหึงหวงและการชิงรักหักสวาทกันระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา และกล่าวไว้ในวรรณคดีหลายเรื่อง แต่พฤติการณ์เหล่านี้มักรุนแรงถึงขนาดพยายามทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้มีอัน เป็นไป นางจันทาพยายามทำเสน่ห์ท้าวยศวิมล ให้ขับมเหสีกับพระโอรสออกไปจากวัง ต่อมาก็ยุให้ท้าวยศวิมลสั่งให้ฆ่าพระสังข์ ให้ตั้งนางเป็นมเหสีเอก แต่ในที่สุดนางก็ได้รับผลแห่งการกระทำชั่วของตัวเอง

หกเขย
     หกเขยเป็นโอรสกษัตริย์ที่ธิดาทั้งหกของท้าวสามนต์เลือกเป็นคู่ครองแม้หกเขย จะเป็นเจ้าชายที่มี “ รูปร่างงามหนักหนา ”  แต่ก็ด้อยสติปัญญาเสียจนมีลักษณะชื่อ เซ่อ จนน่าขันในสายตาผู้อ่าน แม้การบรรยายของผู้นิพนธ์ก็ยังแสดงให้เห็นว่าหกเขย  “  เคอะเซอะ ”  ไปหาพระสังข์ จำต้องยอมให้พระสังข์เชือดจมูกกับใบหูไปจนมีลักษณะ “ หูแหว่งจมูกวิ่น ” ประจานตัวเองไปตลอดชีวิตเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ด้วยกลัวว่าท้าวสามนต์จะประหารชีวิตเสีย ถ้าไม่ได้ปลาได้เนื้อไปตามต้องการ หกเขยต้องเสียจมูกกับหู และความเจ็บปวดทั้งกายและใจแลกกับปลาตายคนละตัวสองตัวและเนื้อทรายขาหักคนละ ตัว มิหนำซ้ำยังถูกเยาะเย้ยจากฝ่ายพระเอกอยู่ตลอดเวลา เวลาที่พระสังข์พูดถึงหกเขย ก็ใช้คำพูดว่า “ อ้ายหกเขยเซอะ ” เป็นการดูหมิ่นอยู่เสมอ
ท้าวยศวิมล  
     ท้าวยศวิมลมีบทบาทในตอนเปิดเรื่องและบทบาทสำคัญในตอนท้ายเรื่องพระองค์เป็น กษัตริย์ที่มีความตั้งใจดีต่อบ้านเมืองคือ ยอมเสียสละลูกเมีย ในบทละครยังย้ำในเรื่องการทำเสน่ห์ เพื่อให้รู้สึกว่าท้าวยศวิมลไม่ใช่คนที่หูเบาหลงเชื่อนางจันทาฝ่ายเดียว แท้ที่จริงพระองค์ก็รักพระมเหสี รักพระโอรส แต่ถูกเวทมนตร์มายาทำให้เป็นไป
ตอนที่ท้าวยศวิมลจะออกตามพระสังข์ ก็คือพระสังข์ถอดรูปเงาะ ได้รับการยอมรับจากท้าวสามนต์แล้ว พระอินทร์ก็มาปรากฏให้เห็นและต่อว่าพระองค์
     ท้าวยศวิมลเป็นคนที่ยอมรับความจริง เพราะเมื่อไปงอนง้อนางจันท์เทวีก็ตรัสว่า “เดี๋ยวนี้รู้สึกตัวว่าชั่วช้า จะออกมาลุแก่โทษที่ทำผิด” พอปรับความเข้าใจกันได้ ก็ชวนนางจันท์เทวีไปตามหาพระโอรสโดยปลอมเป็นสามัญชน พระองค์ได้รับความลำบากยากเข็ญกว่าจะได้พบพระสังข์ บทบาทของพระองค์น่าเศร้าสลดใจมากกว่าตลกขบขัน
ท้าวสามนต์  ท้าวสามนต์เป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทตรงกันข้ามกับท้าวทศยศวิมลอย่างสิ้นเชิง เพราะหากตัดเรื่องพระราชอำนาจสูงสุดที่สั่งประหารชีวิตคนออกไปแล้ว
     ท้าวยศวิมลไม่มีลักษณะตลกขบขันเลยแม้แต่น้อย  แต่ท้าวสามนต์มีบทบาทที่น่าขัน  เช่น  ตอนที่พระสังข์ตีคลี  ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของท้าวสามนต์ก็คือ  เป็นคนเอาแต่ใจ  จิตใจโลเลไม่แน่นอน  ต้องการอะไรแล้วจะต้องได้  เช่นที่พยายามแกล้งเจ้าเงาะ  “แกล้งให้หาปลาจะฆ่าฟัน อ้ายเงาะมันกลับได้มามากมาย ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ แม้นมิฆ่ามันได้ก็ไม่หาย” แต่พอพระสังข์ถอดเงาะแล้ว ก็กลับเข้าข้างพระสังข์ ไม่นึกจิตใจของหกเขยและไม่สงสารธิดาทั้งหกด้วย

พระมเหสี 
นางมณฑา 
     นางมณฑาเป็นแบบฉบับของ  “แม่”  ทั่วๆไป  คือ  รักลูก  ห่วงใยลูกแม้ลูกจะทำผิดก็พร้อมจะให้อภัย  และมีความยุติธรรมเป็นคุณธรรมประจำใจ  เมื่อนางรจนาเลือกเจาเงาะเป็นคู่ครอง  นางผิดหวังมาก  จึงตัดพ้อต่อว่านางรจนา  “ ควรหรือมาเป็นได้เช่นนี้  เสียทีแม่รักเจ้านักหนา  ร่ำพลางนางทรงโศกา  กัลยาเพียงจะสิ้นสมประดี ”  แต่นางก็มีสติดีที่จะไตร่ตรองหาเหตุผลที่พระธิดากระทำเช่านั้น  ทั้งยังเตือนสติท้าวสามนต์ไม่ให้ลงโทษพระธิดาอย่างรุนแรงด้วย  นางมณฑาเป็นคนที่ทีเหตุผล  และพยายามนำเหตุผลมาอธิบายให้พระสวามีผู้มัวเมาในโทสะฟัง  เพื่อให้มองเห็นความสำคัญของเจ้าเงาะ  พยายามไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายประนีประนอมปรองดองกันเพื่อความสงบสุข  แต่การบรรยายถึงนางมณฑาในบางครั้งจะมีลักษณะตลกขบขัน  ตามแบบฉบับของการเล่นละครนอก  ทั้งๆที่นางเป็นนางกษัตริย์  น่าสังเกตว่าบทตลกขบขันนี้จะแสดงออกเฉพาะนางมณฑาเท่านั้น  ส่วนนางจันท์เทวีจะไม่มีบทบทน่าขบขันเลย
ตัวละครอมนุษย์  ตัวละครอมนุษย์  คือตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา  แต่จะมีลักษณะเด่นและมีพลังอำนาจที่ไม่เหมือนมนุษย์ เช่น เทวดา  ยักษ์  ครุฑ  นาค  ฯลฯ  ตัวละครเหล่านี้มีบทบาทและการแสดงออกเช่นเดียวกับมนุษย์  แต่ไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง  ถ้าเป็นตัวละครฝ่ายดีก็มักจะเป็นผู้ช่วยตัวเอก  ถ้าเป็นละครฝ่ายร้ายก็จะมีบทบาทเป็นศัตรูกับตัวเอก





 ตัวละครอมนุษย์
      ตัวละครอมนุษย์ที่ปรากฏบ่อยครั้งในวรรณคดีไทยคือ  พระอินทร์  ซึ่งเป็นผู้ช่วยตัวเอกในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง  โดยเฉพาะวรรณคดีที่มีที่มาจากชาดกตัวละครอมนุษย์นี้มักจะมีอำนาจพิเศษอย่าง ใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  เป็นได้ทั้งตัวละครฝ่ายดีและฝ่ายร้าย  ตัวละครฝ่ายดีจะช่วยแก้อุปสรรคให้กับตัวเอกช่วยเหลือ  แก้สถานการณ์ ฯลฯ  โดยมากจะปรากฏในรูปของพระอินทร์หรือเทวดา  ส่วนตัวละครฝ่ายร้าย  มักปรากฏในรูปยักษ์  ปีศาจ  หรือสัตว์ที่มีฤทธิ์ต่างๆ  แต่ถ้าเป็นตัวละครอมนุษย์ที่ไม่มีอำนาจพิเศษ  ก็มักมีบทบาทเป็นผู้ช่วยตัวละครเอกมากกว่าที่จะเป็นอย่างอื่น  ตัวละครอมนุษย์ในเรื่องสังข์ทองเป็นตัวละครฝ่ายดีทั้งสิ้น
พระอินทร์และเทวดา
     ในบทละครหลายเรื่องจะมีบทบาทของพระอินทร์ที่เหาะลงมาช่วยตัวละครเอกเวลาที่ ตกอยู่ในความคับขัน  หรือต้องการความช่วยเหลือ  หรือในเวลาที่เหมาะสม  สำหรับเรื่องนี้อธิบายได้ว่าเกิดจากอธิพลของนิทานชาดก  ซึ่งมีหลักอยู่ว่าพระอินทร์จะลงมาช่วยพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ  และพระอินทร์จะช่วยตัวละครที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมเท่านั้น  ทั้งยังช่วยจูงใจตัวละครบางตัวที่หลงผิดไปให้กลับไปยึดมั่นในคุณธรรมอีก ด้วย  บทบาทของพระอินทร์  บทบาทของพระอินทร์นี้ช่วยทำให้มีความสมเหตุสมผลในการที่จะสร้างเรื่องให้มี ความสุดวิสัยหรือความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ  แต่พฤติกรรมของพระอินทร์ก็มีลักษณะเหมือนกับพฤติกรรมของคนธรรมดานี่เองคือ  มีอารมณ์  ความรู้สึกรัก  โกรธ  เกลียด  ฯลฯ  เพียงแต่มีพลังอำนาจบางอย่างที่จะนำมาใช้ในทางที่ถูกต้องเท่านั้น
      บทบาทของพระอินทร์ในวรรณคดีไทยก็คือ  เมื่อมนุษย์ผู้มีบุญ  ผู้ใดเดือดร้อน  หรือได้รับความทุกข์ยากสำบาก  พระอินทร์ก็จะเสด็จลงมาช่วยบำบัดทุกข์ให้เสมอ  โดยรู้ได้จากการที่ทิพยอาสน์หรือพระแท่นบัณฑุกัมพลที่ประทับแข็งกระด้างขึ้น มา พระองค์จะเล็งทิพยเนตรสอดส่องดูมนุษย์โลกแล้วลงมาช่วยเหลือ
น่าสังเกตว่าพระอินทร์จะให้ความช่วยเหลือคนดีที่ตกทุกข์ได้ยากให้พ้นจากความ ทุกข์ทรมานและพบกับความสุข  โดยไม่จำเป็นต้องรอให้พระแท่นบัณฑุกัมพลแข็งกระด้างขึ้นมาก็ได้อย่างเช่นใน เรื่องสังข์ทอง  เมื่อพระอินทร์ช่วยนางรจนาและเจ้าเงาะให้พ้นทุกข์แล้ว  ก็ประสงค์จะให้ท้าวยศวิมลไปรับนางจันท์เทวีคืนมาอยู่วังตามเดิม  จึงไปปรากฏองค์ให้ท้าวยศวิมลเห็น
     นอกจากนี้พระอินทร์ยังช่วยเสริมสร้างความสามารถและฤทธิ์อำนาจให้กับตัวเอก  เช่น  มาท้าตีคลีพนันแล้วยอมแพ้พระสังข์  เพื่อให้ท้าสามนต์และราษฎรเมืองสามนต์ยอมรับในบารมีของพระสังข์
     สำหรับบทบาทของเทวดานั้นก็ปรากฏบ่อยครั้ง  ส่วนใหญ่จะเป็นการดลใจตัวละครให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  และเหตุการณ์นั้นทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล  เช่น  เทวดาดลใจท้าวสามนต์
     เทวดาดลใจนางรจนาตอนที่เลือกคู่คือ  “เทพไทอุปถัมภ์นำชัก นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง” และเจ้าเงาะเองก็บอกนางว่า “พี่อยู่ถึงนอกฟ้าหิมพานต์เทวัญบันดาลให้เที่ยวมา” การดลใจนี้เป็นการช่วยให้ตัวละครสมประสงค์ในการเลือกคู่มากกว่าอย่าง อื่น นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือตัวละครฝ่ายดีให้รอดพ้นอันตราย  เช่น  รุกขเทพที่รักษาพระไทรป้องกันพระสังข์ไม่ให้เป็นอันตราย  ตอนที่ถูกเสนาทุบด้วยท่อนจันทน์  อีกตอนหนึ่งคือช่วยย่นระยะทางให้นางจันท์เทวีมาตามพระสังข์ซึ่งถูกจับตัว
     ตอนที่พระสังข์ถูกถ่วงน้ำ  แม้จะไม่ได้ระบุไว้อย่างละเอียด  แต่การที่พระสังข์จะรอดชีวิตก็เท่ากับเทวดาได้ช่วยไว้นั่นเอง  แต่ไประบุไว้ว่าเทวดาดลใจท้าวภุชงค์ให้มาช่วยพระสังข์

นางพันธุรัต
     นางพันธุรัตเป็นยักษ์ใจดี  เลี้ยงดูพระสังข์และรักเหมือนลูก  แต่ความรักของนางกลับทำลายตัวนางเอง  เพราะเท่ากับว่าเมื่อพระสังข์  “ปีกกล้าขาแข็ง” แล้วก็หนีจากนางไป
     ผู้นิพนธ์ได้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างนางพันธุรัดกับพระสังข์ตั้งแต่แรก ที่ท้าวภุชงค์ส่งพระสังข์มาเป็นลูกคือ  โหรไม่เห็นด้วย  แต่นางไม่ฟังคำทักท้วงเพราะรักใคร่เอ็นดูพระสังข์เสียแล้ว  แต่วิตกว่าตนเป็นยักษ์  พระสังข์เป็นมนุษย์จะกลัวยักษ์  จึงสั่งให้พวกยักษ์จำแลงกายเป็นมนุษย์ทั้งหมด  ซึ่งสุนันทา  โสรัจจ์  วิจารณ์ไว้ว่า  “นางยักษ์เริ่มต้นด้วยการหนีความจริง เมื่อโหรทำนายว่าพระสังข์จะก่อความวิบัติให้นาง ก็ไม่ตัดไฟต้นลมเสียก่อน นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับฟังเหตุผลโมโหร้ายที่ถูกขัดใจ ถือเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่”
     นางพันธุรัตแปลงกายอำพรางไม่ให้พระสังข์รู้จนเวลาผ่านไปร่วมสิบปี  แต่นางก็กลัวว่าพระสังข์จะหนีไป  จึงคอยระวังอยู่ตลอดเวลา  แม้เวลาที่จะไปป่าก็ยังหลอกพระสังข์จนพระสังข์สงสัย  แต่เราจะสังเกตได้ว่า  ผู้นิพนธ์ได้กล่าวย้ำถึงความเป็นยักษ์ของนางอยู่ตลอดเวลา
     ถึงแม้จะเป็นยักษ์  นางพันธุรัตก็เป็นแม่ที่อุ้มชูพระสังข์มาเป็นเวลานานให้ความห่วงใยเสมอต้น เสมอปลาย  พระสังข์เองก็อดที่จะโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ไม่ได้  ครั้นพอเห็นพระสังข์ไม่ยอมลงมาหาแน่แล้ว  นางก็เขียนมหาจินดามนตร์ไว้ให้  เพื่อเป็นการเตรียมการให้พระสังข์ไปผจญกับอุปสรรคและแก้ไขอุปสรรคได้  การกระทำของนางคือการเสียสละเพื่อลูกอย่างแท้จริง




https://www.gotoknow.org/posts/520704

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติที่มาของเรื่อง

  สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก ซึ่งเป็น นิทาน เรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดก ของท้องถิ่น ในภาคเหนือและภาคใต้มีสถานที่ที่กล่าวถ...