วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประวัติที่มาของเรื่อง




  สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก ซึ่งเป็น นิทาน เรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดก ของท้องถิ่น ในภาคเหนือและภาคใต้มีสถานที่ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทองกล่าวคือเล่ากันว่าเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองท้าวสามนต์ ใกล้วัดมหาธาตุมีลานหินเป็นสนามตีคลีของพระสังข์ ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามนต์ และเรียกภูเขาลูกหนึ่งว่า เขาขมังม้าเนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป




https://sangthong.wordpress.com

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

      สังข์ทอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีลักษณะของละครนอก มีตัวละครที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เจ้าเงาะซึ่งคือพระสังข์ กับนางรจนา เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและเป็นนิยม จึงมีการนำเนื้อเรื่องบางบทที่นิยม ได้แก่ บทพระสังข์ได้นางรจนา เพื่อนำมาประยุกต์เป็นการแสดงชุด รจนาเสี่ยงพวงมาลัย
     สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก เป็นหนึ่งใน ชาดกพุทธประวัติ เป็นนิทานพื้นบ้านในภาคเหนือและภาคใต้โดยที่สถานที่ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทอง กล่าวคือเล่ากันว่า 
  • เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองท้าวสามล อยู่ในบริเวณใกล้วัดมหาธาตุเนื่องจากมีลานหินเป็นสนามตีคลีของพระสังข์
  • ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามล มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า “เขาขมังม้าเนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป




.





เรื่องย่อ

         กาลปางก่อน มีพระเจ้าพรหมทัต(ท้าวยศวิมล) ครองเมืองพรหมนคร(เมืองยศวิมล) พระเจ้าพรหมทัตมีมเหสีสององค์ มเหสีฝ่ายขวาชื่อพระนางจันทราเทวี (นางจันเทวี) มเหสีฝ่ายซ้ายชื่อพระนางสุวรรณจัมปากะ (นางจันทา) พระเจ้าพรหมทัตโปรดมเหสีฝ่ายซ้ายมาก ต่อมามเหสีทั้งสองทรงครรภ์ โหรทำนายว่าบุตร ของมเหสีฝ่ายขวาเป็นชาย ส่วนมเหสีฝ่ายซ้ายเป็นหญิง พระนางสุวรรณจัมปากะรู้สึกเสียใจที่จะได้ธิดาแทนจะเป็นโอรส และเกรงว่าพระนางจันทราเทวีจะได้ดีกว่า จึงใส่ร้ายพระนางจันทราเทวีจนพระเจ้าพรหมทัตหลงเชื่อ ขับไล่พระนางจันทราเทเวีออกจากพระราชวัง พระนางจันทราเทวเดินทางด้วยความยากลำบาก เมื่อถึงชายป่านอกเมือง ยายตาสองคนสงสารจึกชวนให้พักอยู่ด้วย โอรสในครรภ์ของพระนางจันทราเทวีเห็นความยากลำบากของพระมารดาจึงแปลงกายเป็นหอยสังข์เพื่อไม่ให้พระมารดาต้องลำบากเลี้ยงดู เมื่อครบกำหนดคลอด พระนางจันทราเทวีก็คลอดโอรสออกมาเป็นหอยสังข์ ซึ่งพระนางก็รักใคร่ เลี้ยงดูเหมือนลูกมนุษย์
        วันหนึ่งพระนางจันทราเทวีออกจากบ้านไปช่วยตายายเก็บผักหักฟืน ลูกน้อยในหอยสังข์ก็ออกจากรูปหอยสังข์ช่วยปัดกวาดบ้านเรือน และหุงหาอาหารไว้ พอเสร็จก็กลับเข้าไปในรูปหอยสังข์ตามเดิม พระนางจันทราเทวีเมื่อกลับมาก็แปลกใจว่าใครมาช่วยทำงาน และเมื่อนางจันทราเทวีออกจากบ้านไป ลูกน้อยในหอยสังข์ก็จะออกมาทำงานบ้านให้เรียบร้อยทุกครั้ง พระนางจันทราเทวีอยากรู้ว่าเป็นใคร วันหนึ่งจึงทำทีออกจากบ้านไปป่าเช่นเคย แต่แล้วก็ย้อยกลับมาที่บ้าน โอรสในหอยสังข์ก็ออกมาทำงานบ้าน พระนางจันทราเทวีเห็นโอรสเป็นมนุษย์ก็ดีใจ จึงทุบหอยสังข์เสียและกอดโอรสด้วย ความยินดี และตั้งชื่อให้ว่า ” สังข์ทอง ”
        เมื่อพระเจ้าพรหมทัตรู้ข่าวว่าพระนางจันทราเทวีประสูติพระโอรสก็ยินดีจะรับพระนางจันทราเทวีกลับ พระนางสุวรรณจัมปากะเทวีริษยาจึงได้เท็จทูลว่าพระโอรสเดิมเป็นหอยสังข์ พระเจ้าพรหมทัตก็หลงเชื่อเกรงจะเป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง จึงให้อำมาตย์จับพระนางจันทราเทวีและลูกน้อยสังข์ทองใส่แพลอยไป เมื่อแพลอนออกทะเลเกิดพายุใหญ่แพแตก พระนาจันทราเทวีถูกคลื่นซัดลอยไปติดที่ชายหาดเมืองมัทราษฎร์ พระนางก็เดินทาซัดเซพเนจรไปอาศัยบ้านเศรษฐีเมืองมัทราษฎร์ชื่อ ธนัญชัยเศรษฐี และทำหน้าที่เป็นแม่ครัว
        ฝ่ายพระสังข์ทองนั้นจมน้ำลงไปยังนาคพิภพ พระยานาคมีจิตสงสารจึงเนรมิตเรือทอง แล้วอุ้มพระสังข์ทองใส่ไว้ในเรือ เรือทองลอยไปถึงเมืองยักษ์ซึ่งนางยักษ์พันธุรัตปกครองอยู่ นางยักษ์เห็นพระสังข์ทองในเรือทองเกิดความรักใคร่เอ็นดู จึงนำพระสังข์ทองมาเลี้ยงดูในปราสาท และให้พี่เลี้ยงนางนมแปลงร่างเป็นคนเพื่อมิให้พระสังข์ทองหวาดกลัว พระสังข์ทองก็เติบโตอยู่กับนางยักษ์พันธุรัต
        นางยักษ์พันธุรัตปกติจะต้องออกไปหาสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร เมื่อนางออกไปป่าก็จะไปครั้งละสามวันหรือเจ็ดวัน ทุกครั้งที่ไปก็จะสั่งพระสังข์ทองว่าอย่าขึ้นไปเล่นบนปราสาทชั้นบน และในสวน พระสังข์ทองก็เชื่อฟัง แต่เมื่อโตขึ้นก็เกิดความสงสัยอยากรู้ วันหนึ่งเมื่อนางยักษ์พันธุรัตไปป่า พระสังข์ทองก็แอบไปในสวนส่วนที่ห้ามไว้ เห็นกระดูกสัตว์และคนเป็นจำนวนมากที่นางยักษ์กินเนื้อแล้วทิ้งกระดูกไว้เป็นจำนวนมาก พระสังข์ทองเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ นึกรู้ว่ามารดาเลี้ยงเป็นยักษ์ก็รู้สึกหวาดกลัว และเมื่อเดิต่อไปเห็นบ่อเงินบ่อทองสวยงามพอพระสังทองเอานิ้วก้อยจุ่มลงไปนิ้วก็กลายเป็นสีทอง พระสังข์ทองจึงลงไปอาบทั้งตัว ร่างกายก็กลายเป็นสีทองงดงาม แล้วพระสังข์ทองก็ขึ้นไปบนปราสาทชั้นบน เห็นเกราะรูปเงาะป่า เกือกทองและพระขรรค์ พระสังข์ทองเอาเกราะเงาะป่ามาสวมก็กลายร่างเป็นเงาะป่าพอใส่เกือกทองก็รู้สึกว่าลอยได้ พระสังข์ทองจึงหยิบพระขรรค์แล้วเหาะหนีออกจากเมืองยักษ์ และข้ามแม่น้ำไปยังเมืองตักศิลา ตกเย็นจึงพักอยู่ที่ศาลาริมน้ำ
        ฝ่ายนางยักษ์กลับมาไม่เห็นลูก และขึ้นไปที่ปราสาทชั้นบนเห็นเกราะรูปเงาะป่า เกือกทองและพระขรรค์หายไป ก็รู้ทันทีว่าพระสังข์ทองรู้ว่าตนเป็นยักษ์แล้วหลบหนีไป นางจึงเหาะตามไป เมื่อถึงฝั่งน้ำเห็นพระสังข์ทองพักอยู่ นางไม่สามารถเหาะข้ามไปได้ จึงร้องไห้อ้อนวอนให้พระสังข์ทองกลับไป พระสังข์ทองยังหวาดกลัวจึงไม่ยอมกลับ นางพันธุรัตเสียใจจนหัวใจแตกสลาย แต่ก่อนตายนางก็สอนมนต์หาเนื้อหาปลาให้พระสังข์ทองแล้วนางก็สิ้นใจตาย พระสังข์ทองรู้สึกเสียใจมาก หลังจากได้จัดเผาศพนางยักษ์แล้ว พระสังข์ทองก็เหาะเดินทางไปเมืองพาราณสี และได้ไปอาศัชาวบ้านช่วยเลี้ยงโค พระสังข์ทองตอนนี้รูปร่างเป็นเงาะป่า พวกเด็กเลี้ยงโคก็มาเล่นสนิทสนมกับพระสังข์ทอง
        ที่เมืองพาราณสีนี้เจ้าเมืองมีธิดา 7 องค์ เจ้าเมืองคิดจะให้พระธิดาทั้ง 7 องค์ได้อภิเษกสมรส จึงมีรับสั่งให้ประกาศแก่เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ให้ส่งโอรสมาให้พระธิดาเลือก พระธิดาทั้ง 6 องค์ก็เลือกได้เจ้าชายทที่เหมาะสม แต่พระธิดาองค์สุดท้องชื่อรจนาไม่ยอมเลือกเจ้าชายองค์ใด เจ้าเมืองพาราณสีทรงกริ้วมากจึงประชดโดยให้อำมาตย์ไปประกาศให้ชายทุกคนในเมืองให้เข้ามาในวังให้พระราชธิดาเลือก พระสังข์ทองในรูปเงาะป่า ก็ถูกเกณฑ์เข้ามาด้วย เมื่อนางรจนาออกมาเลือกคู่ บุญบันดาลให้เห็นรูปทองของพระสังข์ทองแทนที่จะเป็นเงาะป่า นางจึงเลือกเงาะป่า เจ้าเมืองพาราณสีกริ้วมากขับไล่นางรจนาออกไปอยู่นอกเมือง
        เจ้าเมืองพาราณสีมีความแค้นเคืองเงาะป่าคิดจะกำจัดจึงออกคำสั่งให้เขยทั้งหกและเงาะป่าไปหาเนื้อมาคนละตัว ใครหามาไม่ได้จะถูกประหารชีวิต เงาะป่าเข้าไปในป่าถอดรูปเงาะออกแล้วร่ายมนต์เรียกเนื้อ เนื้อทั้งหลายก็มาอออยู่ที่พระสังข์ทอง หกเขยหาเนื้อทั้งวันก็ไม่ได้จนกระทั่งมาพบพระสังข์ทอง ซึ่งหกเขยคิดว่าเป็นเทวดา หกเขยขอเนื้อจากพระสังข์ทอง พระสังข์ทองให้โดยขอตัดใบหูคนละหน่อย หกเขยก็ยอม ทั้งหมดก็นำเนื้อไปให้เจ้าเมืองพาราณสี
        เจ้าเมืองพาราณสียังทำร้ายเงาะป่าไม่ได้ก็แค้นใจจึงมีคำสั่งให้เขยทุกคนหาปลาไปถวาย พระสังข์ทองก็ถอดรูปเงาะป่าแล้วร่ายมนต์เรียกปลา ปลาก็มาออคับคั่งอยู่ที่พระสังข์ทอง หกเขยหาปลาไม่ได้ทั้งวันและเมื่อพบปลามาอออยู่ที่พระสังข์ทองก็กราบไหว้อ้ออนวอนขอปลา พระสังข์ทองยกให้โดยขอตัดปลายจมูกหกเขยคนละหน่อย แล้วหกเขยกับเงาะป่านำปลาไปถวายเจ้าเมืองพาราณสี
        เจ้าเมืองพาราณสีขัดแค้นใจที่ทำอันตรายเงาะป่าไม่ได้ก็เฝ้าคิดหาวิธีการอื่นที่จะกำจัดเงาะป่า พระอินทร์บนสวรรค์ทราบถึงการคิดร้ายของเจ้าเมืองพาราณสีต่อเงาะป่าจึงลงมาช่วย โดยเหาะลงมาลอยอยู่หน้าพระที่นั่งของเจ้าเมืองพาราณสี และกล่าวท้าทายว่าให้เจ้าเมืองพาราณสีหาคนดีมีฝีมือเหาะขึ้นมาตีคลีกับพระอินทร์บนอากาศภายในเจ็ดวัน ถ้าหาไม่ได้ก็จะฆ่าเจ้าเมืองพาราณสี
        เจ้าเมืองพาราณสีตกใจมากให้หกเขยและบรรดาเสนาอำมาตย์ช่วยกันหาผู้อาสาเหาะไปตีคลี ทุกคนก็จนปัญญา เจ้าเมืองพาราณสีจึงให้ป่าวประกาศว่าผู้ใดที่สามารถเหาะไปตีคลีกับพระอินทร์บนอากาศได้จะยกราชสมบัติให้ แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดมาอาสา นางมณฑาเทวีพระมเหสีของเจ้าเมืองพาราณสีจึงแอบไปหานางรจนา และขอให้นางรจนาอ้อนวอนให้เงาะป่าช่วย เงาะป่าสงสารทั้งสองนางจึงรับปาก และในวันที่เจ็ดเงาะป่าก็ถอดรูปเป็นพระสังข์ทองใส่เกือกแก้วเหาะขึ้นไปตีคลีกับพระอินทร์จนชนะ พระอินทร์ก็กลับไปบนสวรรค์
        เจ้าเมืองพาราณสีดีพระทัยมากได้ขอโทษพระสังข์ทองและยกราชสมบัติให้ตามสัญญา พระสังข์ทองขอลาไปตามหาพระนางจันทราเทวีก่อน พระสังข์ทองเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงเมืองมัทราษฎร์ จึงไปสืบถามที่บ้านธนัญชัยเศรษฐีว่ารู้จักหญิงที่ชื่อจันทราเทวีหรือไม่ ธนัญชัยเศรษฐีบอกว่าไม่รู้จัก แต่ก็เชิญพระสังข์ทองอยู่รับประทานอาหาร พระสังข์ทองสังเกตว่าอาหารมีรสปราณีตซึ่งผู้ทำจะต้องเป็นผู้ทำอาหารถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงขอพบแม่ครัวและซักถามประวัติก็ทราบว่าเป็นพระนางจันทราเทวีจึงดีใจมาก และขอธนัญชัยเศรษฐีที่จะรับพระมารดากลับไป
        พระสังข์ทองนำพระมารดากลับไปอยู่ที่เมืองพาราณสี พระสังข์ทอง ปกครองเมืองพาราณสีจนเจริญรุ่งเรือง กิติศัพท์แพร่ไปยังนครอื่น ๆจนถึงเมืองพรหมนคร ชาวเมืองพรหมนครก็อพยพมาอยู่เมืองพาราณสี เสนาอำมาตย์เมืองพรหมนครจึงทูลเสนอพระเจ้าพรหมทัตว่าพระสังข์ทองพระราชโอรสครองเมืองพาราณสีมีความสามารถทำให้รุ่งเรืองจึงเห็นสมควรที่จะอัญเชิญพระสังข์ทองมาครองเมืองพรหมนครเพื่อสร้างความเจริญ พระเจ้าพรหมทัตเมื่อทรงทราบว่าพระโอรสยังมีชีวิตอยู่และมีความสามารถก็ยินดี และสำนึกผิดให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ไปเมืองพาราณสีและทูลเชิญพระสังข์ทองและพระนางจันทราเทวีกลับเมืองพรหมนคร พระสังข์ทองสงสารพระบิดาจึงอ้อนวอนพระมารดาให้อภัยพระเจ้าพรหมทัตและเดินทางกลับเมืองพรหมนคร พระเจ้าพรหมทัตก็มอบราชสมบัติให้พระสังข์ทองปกครองบ้าน เมืองเป็นสุขสืบมา


https://sangthong.wordpress.com

ลักษณะคำประพันธ์


ลักษณะคำประพันธ์
        1.1.เป็นกลอนบทละคร บทหนึ่งมี 4 วรรค วรรคละ 6 คำ หนึ่งบทมี 2บาท เรียกว่าบาทเอกและบาทโท 1 บาท เท่ากับ 1 คำกลอน
        2.คำขึ้นต้นบท กลอนบทละครมีคำขึ้นต้นหลายแบบ และคำขึ้นต้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีจำนวนเท่ากับวรรคสดับ อาจจะมีเพียง 2 คำก็ได้
บทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง มี 9 ตอน คือ
  1. กำเนิดพระสังข์
  2. ถ่วงพระสังข์
  3. นางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์
  4. พระสังข์หนีนางพันธุรัต
  5. ท้าวสามนต์ให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่
  6. พระสังข์ได้นางรจนา
  7. ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
  8. พระสังข์ตีคลี
  9. ท้าวยศวิมลตามพระสังข์
https://sangthong.wordpress.com

คุณค่าของเรื่องสังข์ทอง

เรื่องสังข์ทอง
          บทละครนอก  มิใช่บทสำหรับแสดงละครเพียงอย่างเดียว  แต่ใช้เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านด้วย  โดยมีความสำคัญควบคู่กันไป   เพราะในการอ่านบทละครนั้น  ผู้อ่านจะอ่านเนื้อเรื่องโดยตลอด  ส่วนในการแสดงก็คงจะนิยมนำมาแสดงเป็นตอนๆ  ไม่ได้แสดงที่เดียว     จบทั้งเรื่อง  เช่น  เรื่องสังข์ทองก็นิยมแสดงตอนนางมณฑาลงกระท่อมมากกว่าตอนอื่นๆ  เป็นต้น
          ผู้ดูละครต้องการความบันเทิงและการผ่อนคลายอารมณ์จากความตึงเครียด  ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ  ที่ได้จากการดูละคร ซึ่งก็เป็นความจริงของชีวิตที่แฝงอยู่ในบทละครนั้น  ละครจึงมีส่วนช่วยและมีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อนที่คนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก  และมีมหรสพให้ชมอยู่ไม่กี่ชนิด
          เนื้อหาของบทละครนอกนั้น  มีจุดประสงค์ที่จะสื่อสารคุณค่าทางศิลปะและให้ความจริงของชีวิตโดยเป็นวรรณกรรมที่ใช้ประกอบการแสดง  ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อสารโดยอาศัยบทบาทของตัวละครบนเวที  ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบและพอใจ
คุณค่าของบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง  แยกได้เป็น  ๒  ด้าน  คือ
๑.คุณค่าด้านเนื้อหา
๒.คุณค่าด้านศิลปะ
คุณค่าด้านเนื้อหา          เนื้อหาของบทละครนอกแสดงให้เห็นความคิดของผู้แต่งที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังทราบ  ดังนี้
๑.ค่านิยมในสังคม  วัฒนธรรม  และแนวทางการดำเนินชีวิต  โดยต้องการปลูกฝังทัศนคติลงไปในจิตใจของคนไทย  เช่น  ทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์จงรักภักดีของผู้หญิงที่มีต่อสามี  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ  บทบาทของนางจันท์เทวีและนางรจนา  เช่น  นางรจนาคร่ำครวญตอนท้าวสามนต์ให้หาปลาถวาย
๒.การรักพวกพ้อง  รักชาติบ้านเมือง  ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ  พฤติการณ์ของหกเขย  และการตีคลีพนันกับพระอินทร์  เช่น  ตอนนางมณฑาขอร้องให้เจ้าเงาะช่วย
๓.การทำความดี  มีตัวอย่างปรากฏตลอดทั้งเรื่อง  เช่น  การที่ท้าวภุชงค์และนางพันธุรัตรับเลี้ยงดูพระสังข์  ตายายช่วยเหลือนางจันท์เทวีนายประตูเมืองสามนต์ช่วยเหลือท้าวยศวิมล  เป็นต้น
          การปลูกฝังทัศนคติโดยใช้วรรณกรรมประเภทบทละครเป็นเครื่องมือนี้เป็นการกระทำที่แนบเนียนและค่อนข้างได้ผล  เพราะผู้ดูละครหรือผู้อ่านบทละครเกิดความรู้สึกอยากเอาอย่างตัวละครหรือนำตัวเองไปเทียบกับตัวละครบางตัว  แล้วปฏิบัติให้เหมือนตัวละครนั้นๆ  ดังนั้น  ผู้ดูละครหรือผู้อ่านบทละครก็จะได้รับความรู้เพิ่มขึ้น  ได้มีโอกาสใช้ความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของตัวละครซึ่งก็คือการเลียนแบบพฤติกรรมในชีวิตจริงนั่นเองทำให้มีทัศนะและความคิดที่กว้างขวางขึ้น  และนอกจากนี้ยังได้รับความบันเทิงจากการใช้วรรณกรรมประเภทบทละครเป็นเครื่องช่วยระบายอารมณ์ได้อีกด้วย
          นอกจากนี้เรื่องสังข์ทองยังเสนอแนวคิดที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้คือ  “ การพิจารณาบุคคล ”  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  ในการพิจารณาบุคคลนั้น  เราไม่ควรมองจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วตัดสินว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร  แต่ต้องมองลึกลงไป  และคนที่มองดูแต่ภายนอกว่ามีลักษณะที่ดีหรือสวยงาม  ก็อาจจะไม่ใช่คนดีก็ได้  สำหรับเรื่องสังข์ทองนี้  พระสังข์  มีสภาพที่ปรากฏแก่สายตาบุคคลทั่วไปว่า  คนที่รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์เช่นเจ้าเงาะก็อาจจะมีความสามรถอย่างมาก  เป็นด้นว่า  การใช้เวทมนตร์ในการหาปลาหาเนื้อ  โดยที่เขยอีกหกคนหาไม่ได้  ถึงแม้เจ้าเงาะจะใช้เวทมนต์และเล่ห์เหลี่ยมในการหาสิ่งของเหล่านี้ก็ตาม  ก็คงจะเป็นการสื่อสารให้ผู้ดูละครหรือผู้อ่านบทละครได้ข้อคิดว่า  ในการพิจารณาบุคคลนั้น  ไม่ควรพิจารณาจากรูปร่างหน้าตา  ชาติตระกูล  หรือยศศักดิ์  แต่ควรดูที่สติปัญญา  ความรู้  ความสามารถ  และความดีงาม  และลึกลงไปกว่านั้นก็คือ  คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าจะแฝงอยู่ในตัวบุคคลเช่นเดียวกับรูปทองของพระสังข์  ที่แฝงอยู่ในรูปเงาะนั่นเอง
          เนื่องจากบทละครนอกเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง  และมีความมุ่งหมายในการแสดงเนื้อเรื่องมากกว่าที่จะแสดงศิลปะอย่างอื่น  เนื้อเรื่องที่ผูกขึ้นมานั้นถึงแม้ว่าจะเป็นทำนองเดียวกับเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ  ก็ตาม  แต่ก็ได้พยายามเสนอความแปลกใหม่บางอย่างให้ผู้ดูละครหรือผู้อ่านบทละครได้เกดความสนุกสนานเพลิดเพลินกับความแปลกใหม่นั้น  ความแปลกใหม่ประการหนึ่งก็คือ  การสร้างตัวละครพิเศษพิสดารไปจากความเป็นธรรมดาแต่ตัวละครเหล่านี้มีกำเนิดที่แปลกประหลาดหรือมีคุณสมบัติพิสดารก็จริง  ทว่าพวกเขาก็ยังมีลักษณะของมนุษย์ธรรมดาที่มีแนวทางการดำเนินชีวิต  มีอุดมคติ  มีหลักยึดมั่นประจำใจ  และความต้องการต่างๆ  เช่นเดียวกับมนุษย์ธรรมดาเราจึงสามารถอธิบายพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเหล่านั้นได้เช่นเดียวกับการอธิบายพฤติกรรมของบุคคลจริงๆ
คุณค่าด้านศิลปะ
          คุณค่าด้านศิลปะละครนอกส่วนใหญ่จะได้จากการแสดง  ผู้แสดงจะเสนอศิลปะในรูปของทำนองเพลง  การร่ายรำ  และถ้อยคำในบทร้อง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระราชนิพนธ์บทละครด้วยความพิถีพิถันในเรื่องท่ารำ  และการแสดงเป็นอย่างมาก  การทรงพระราชนิพนธ์บทละครในนั้น  ทรงระวังให้ถ้อยคำในบทละครทุกตอนเหมาะกับท่ารำตอนไหนที่จะรำไม่ได้หรือแสดงได้ไม่ดี  ก็ดัดแปลงหรือตัดทิ้งจนแสดงได้เรียบร้อยดีเล่ากันว่าบทที่แต่งแล้วนั้นพระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีนำไปซ้อมกระบวนรำ  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงเอาพระฉาย (กระจก)  บานใหญ่มาตั้งแล้วทรงรำตามบทนั้น  ทอดพระเนตรท่ารำที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นในพระฉายแล้วแก้ไขดัดแปลงโดยมีนาฏศิลปินสองคนเป็นที่ปรึกษา  บางครั้งกระบวนรำขัดข้องก็อาจกราบทูลขอให้แก้บท  เมื่อกระบวนรำงามดีแล้วก็ให้นากศิลปินที่ปรึกษาไปหัดละครหลวง  แล้วให้ละครหลวงมาซ้อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ให้ทรงติและแก้ไขกระบวนรำอีกชั้นหนึ่ง  จึงได้ยุติเป็นแบบแผน  (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ๒๕๐๖ : ๑๐๓) 
          วิธีที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกก็คงจะพิถีพิถันเช่นเดียวกับบทละครใน  แต่อาจจะไม่ประณีตบรรจงเท่ากับละครใน  เพราะแบบแผนในการแสดงต่างกัน  อย่างไรก็ตาม  บทกลอนบางตอนในเรื่องสังข์ทอง  ทำให้มองเห็นความงดงามของตัวละครได้จากการใช้ภาษา  เช่น  บทอาบน้ำแต่งตัวของพระสังข์  ตอนที่ถอดรูปเงาะเพื่อออกไปตีคลีกับพระอินทร์  ใช้เพลง  “ลงสรงมอญ” 










http://www.thaigoodview.com/node/47816

วิเคราะห์ตัวละครเรื่องสังข์ทอง

วิเคราะห์ตัวละคร
พระสังข์
     พระสังข์เป็นตัวเอกที่มีรูปงามตามแบบการสร้างตัวเอกในวรรณคดีไทย ทั่วไป  แต่ในตอนเด็กปรากฏเป็น  ๒  รูป คือ รูปหอยสังข์กับรูปกุมาร ส่วนตอนเป็นหนุ่มก็มี  ๒  รูปเช่นเดียวกัน คือ รูปเงาะกับรูปทอง ทั้งรูปหอยสังข์และรูปเงาะเปรียบเสมือน  “ เกาะ”  คุ้มครองพระสังข์  ในตอนเด็กเมื่อนางจันท์เทวีต่อยหอยสังข์แตกแหลกไป  พระสังข์ร้องไห้คร่ำครวญ  ต่อว่าพระมารดาว่า  พระแม่ต่อยสังข์ดังชีวิต  จะชมชิดลูกนี้สักกี่วัน  ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยๆ  ถึงภัยที่จะมาถึงและต่อมาพระองค์ก็ถูกจับไปถ่วงน้ำ  เพราะเมื่อไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในหอยสังข์  ชาวบ้านก็เห็นและเล่าลือกันต่อๆไป  จนท้าวยศวิมลและนางจันทารู้  ส่วนรูปเงาะนั้นพระสังข์กราบทูลท้าวสามลว่า “ ซึ่งแปลงมาจะหาคู่ครอง ” ซึ่งแสดงว่ารูปเงาะนี้นอกจากจะเป็นของวิเศษ  เป็นเกราะกำบังแล้ว  ยังเป็นเครื่องมือในการหาคู่ครองที่เหมาะสมคือมีบุญบารมีเทียบเท่ากัน ด้วย





ตัวโกง
     ตัวโกง คือตัวละครฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอก  มักมีบทบาทร้ายเพียงด้านเดียว  ไม่มีคุณธรรม  ไม่ปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรม  บทบาทของตัวโกงจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน  คือทำให้คู่รักหรือสามีภรรยาต้องพลัดพรากจากกัน หรือมีพฤติการณ์ไม่ดี  คอยอิจฉาริษยาตัวเอกและคนทั่วไป
     ตัวโกงในวรรณคดีไทย  มักจะมีแต่ความร้ายกาจอย่างเดียว ความเลวร้ายนั้นมักเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล  และช่วยให้เรื่องดำเนินไปได้ตามความมุ่งหมาย ตัวละครที่มีบทบาทเด่นด้านนี้คือ  นางจันทาและหกเขย
นางจันทา
     บทบาทของนางจันทาเป็นบทบาทตัวโกงอย่างแท้จริง  เป็นคนใจบาปหยาบช้า  เหี้ยมโหด  ขี้อิจฉาริษยา  ทำเรื่องร้ายๆ ได้ทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งย่อยับไป  นางจันทาเป็นเมียน้อย ซึ่งสำหรับสังคมไทยในสมัยโบราณนั้น ความหึงหวงและการชิงรักหักสวาทกันระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา และกล่าวไว้ในวรรณคดีหลายเรื่อง แต่พฤติการณ์เหล่านี้มักรุนแรงถึงขนาดพยายามทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้มีอัน เป็นไป นางจันทาพยายามทำเสน่ห์ท้าวยศวิมล ให้ขับมเหสีกับพระโอรสออกไปจากวัง ต่อมาก็ยุให้ท้าวยศวิมลสั่งให้ฆ่าพระสังข์ ให้ตั้งนางเป็นมเหสีเอก แต่ในที่สุดนางก็ได้รับผลแห่งการกระทำชั่วของตัวเอง

หกเขย
     หกเขยเป็นโอรสกษัตริย์ที่ธิดาทั้งหกของท้าวสามนต์เลือกเป็นคู่ครองแม้หกเขย จะเป็นเจ้าชายที่มี “ รูปร่างงามหนักหนา ”  แต่ก็ด้อยสติปัญญาเสียจนมีลักษณะชื่อ เซ่อ จนน่าขันในสายตาผู้อ่าน แม้การบรรยายของผู้นิพนธ์ก็ยังแสดงให้เห็นว่าหกเขย  “  เคอะเซอะ ”  ไปหาพระสังข์ จำต้องยอมให้พระสังข์เชือดจมูกกับใบหูไปจนมีลักษณะ “ หูแหว่งจมูกวิ่น ” ประจานตัวเองไปตลอดชีวิตเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ด้วยกลัวว่าท้าวสามนต์จะประหารชีวิตเสีย ถ้าไม่ได้ปลาได้เนื้อไปตามต้องการ หกเขยต้องเสียจมูกกับหู และความเจ็บปวดทั้งกายและใจแลกกับปลาตายคนละตัวสองตัวและเนื้อทรายขาหักคนละ ตัว มิหนำซ้ำยังถูกเยาะเย้ยจากฝ่ายพระเอกอยู่ตลอดเวลา เวลาที่พระสังข์พูดถึงหกเขย ก็ใช้คำพูดว่า “ อ้ายหกเขยเซอะ ” เป็นการดูหมิ่นอยู่เสมอ
ท้าวยศวิมล  
     ท้าวยศวิมลมีบทบาทในตอนเปิดเรื่องและบทบาทสำคัญในตอนท้ายเรื่องพระองค์เป็น กษัตริย์ที่มีความตั้งใจดีต่อบ้านเมืองคือ ยอมเสียสละลูกเมีย ในบทละครยังย้ำในเรื่องการทำเสน่ห์ เพื่อให้รู้สึกว่าท้าวยศวิมลไม่ใช่คนที่หูเบาหลงเชื่อนางจันทาฝ่ายเดียว แท้ที่จริงพระองค์ก็รักพระมเหสี รักพระโอรส แต่ถูกเวทมนตร์มายาทำให้เป็นไป
ตอนที่ท้าวยศวิมลจะออกตามพระสังข์ ก็คือพระสังข์ถอดรูปเงาะ ได้รับการยอมรับจากท้าวสามนต์แล้ว พระอินทร์ก็มาปรากฏให้เห็นและต่อว่าพระองค์
     ท้าวยศวิมลเป็นคนที่ยอมรับความจริง เพราะเมื่อไปงอนง้อนางจันท์เทวีก็ตรัสว่า “เดี๋ยวนี้รู้สึกตัวว่าชั่วช้า จะออกมาลุแก่โทษที่ทำผิด” พอปรับความเข้าใจกันได้ ก็ชวนนางจันท์เทวีไปตามหาพระโอรสโดยปลอมเป็นสามัญชน พระองค์ได้รับความลำบากยากเข็ญกว่าจะได้พบพระสังข์ บทบาทของพระองค์น่าเศร้าสลดใจมากกว่าตลกขบขัน
ท้าวสามนต์  ท้าวสามนต์เป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทตรงกันข้ามกับท้าวทศยศวิมลอย่างสิ้นเชิง เพราะหากตัดเรื่องพระราชอำนาจสูงสุดที่สั่งประหารชีวิตคนออกไปแล้ว
     ท้าวยศวิมลไม่มีลักษณะตลกขบขันเลยแม้แต่น้อย  แต่ท้าวสามนต์มีบทบาทที่น่าขัน  เช่น  ตอนที่พระสังข์ตีคลี  ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของท้าวสามนต์ก็คือ  เป็นคนเอาแต่ใจ  จิตใจโลเลไม่แน่นอน  ต้องการอะไรแล้วจะต้องได้  เช่นที่พยายามแกล้งเจ้าเงาะ  “แกล้งให้หาปลาจะฆ่าฟัน อ้ายเงาะมันกลับได้มามากมาย ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ แม้นมิฆ่ามันได้ก็ไม่หาย” แต่พอพระสังข์ถอดเงาะแล้ว ก็กลับเข้าข้างพระสังข์ ไม่นึกจิตใจของหกเขยและไม่สงสารธิดาทั้งหกด้วย

พระมเหสี 
นางมณฑา 
     นางมณฑาเป็นแบบฉบับของ  “แม่”  ทั่วๆไป  คือ  รักลูก  ห่วงใยลูกแม้ลูกจะทำผิดก็พร้อมจะให้อภัย  และมีความยุติธรรมเป็นคุณธรรมประจำใจ  เมื่อนางรจนาเลือกเจาเงาะเป็นคู่ครอง  นางผิดหวังมาก  จึงตัดพ้อต่อว่านางรจนา  “ ควรหรือมาเป็นได้เช่นนี้  เสียทีแม่รักเจ้านักหนา  ร่ำพลางนางทรงโศกา  กัลยาเพียงจะสิ้นสมประดี ”  แต่นางก็มีสติดีที่จะไตร่ตรองหาเหตุผลที่พระธิดากระทำเช่านั้น  ทั้งยังเตือนสติท้าวสามนต์ไม่ให้ลงโทษพระธิดาอย่างรุนแรงด้วย  นางมณฑาเป็นคนที่ทีเหตุผล  และพยายามนำเหตุผลมาอธิบายให้พระสวามีผู้มัวเมาในโทสะฟัง  เพื่อให้มองเห็นความสำคัญของเจ้าเงาะ  พยายามไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายประนีประนอมปรองดองกันเพื่อความสงบสุข  แต่การบรรยายถึงนางมณฑาในบางครั้งจะมีลักษณะตลกขบขัน  ตามแบบฉบับของการเล่นละครนอก  ทั้งๆที่นางเป็นนางกษัตริย์  น่าสังเกตว่าบทตลกขบขันนี้จะแสดงออกเฉพาะนางมณฑาเท่านั้น  ส่วนนางจันท์เทวีจะไม่มีบทบทน่าขบขันเลย
ตัวละครอมนุษย์  ตัวละครอมนุษย์  คือตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา  แต่จะมีลักษณะเด่นและมีพลังอำนาจที่ไม่เหมือนมนุษย์ เช่น เทวดา  ยักษ์  ครุฑ  นาค  ฯลฯ  ตัวละครเหล่านี้มีบทบาทและการแสดงออกเช่นเดียวกับมนุษย์  แต่ไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง  ถ้าเป็นตัวละครฝ่ายดีก็มักจะเป็นผู้ช่วยตัวเอก  ถ้าเป็นละครฝ่ายร้ายก็จะมีบทบาทเป็นศัตรูกับตัวเอก





 ตัวละครอมนุษย์
      ตัวละครอมนุษย์ที่ปรากฏบ่อยครั้งในวรรณคดีไทยคือ  พระอินทร์  ซึ่งเป็นผู้ช่วยตัวเอกในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง  โดยเฉพาะวรรณคดีที่มีที่มาจากชาดกตัวละครอมนุษย์นี้มักจะมีอำนาจพิเศษอย่าง ใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  เป็นได้ทั้งตัวละครฝ่ายดีและฝ่ายร้าย  ตัวละครฝ่ายดีจะช่วยแก้อุปสรรคให้กับตัวเอกช่วยเหลือ  แก้สถานการณ์ ฯลฯ  โดยมากจะปรากฏในรูปของพระอินทร์หรือเทวดา  ส่วนตัวละครฝ่ายร้าย  มักปรากฏในรูปยักษ์  ปีศาจ  หรือสัตว์ที่มีฤทธิ์ต่างๆ  แต่ถ้าเป็นตัวละครอมนุษย์ที่ไม่มีอำนาจพิเศษ  ก็มักมีบทบาทเป็นผู้ช่วยตัวละครเอกมากกว่าที่จะเป็นอย่างอื่น  ตัวละครอมนุษย์ในเรื่องสังข์ทองเป็นตัวละครฝ่ายดีทั้งสิ้น
พระอินทร์และเทวดา
     ในบทละครหลายเรื่องจะมีบทบาทของพระอินทร์ที่เหาะลงมาช่วยตัวละครเอกเวลาที่ ตกอยู่ในความคับขัน  หรือต้องการความช่วยเหลือ  หรือในเวลาที่เหมาะสม  สำหรับเรื่องนี้อธิบายได้ว่าเกิดจากอธิพลของนิทานชาดก  ซึ่งมีหลักอยู่ว่าพระอินทร์จะลงมาช่วยพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ  และพระอินทร์จะช่วยตัวละครที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมเท่านั้น  ทั้งยังช่วยจูงใจตัวละครบางตัวที่หลงผิดไปให้กลับไปยึดมั่นในคุณธรรมอีก ด้วย  บทบาทของพระอินทร์  บทบาทของพระอินทร์นี้ช่วยทำให้มีความสมเหตุสมผลในการที่จะสร้างเรื่องให้มี ความสุดวิสัยหรือความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ  แต่พฤติกรรมของพระอินทร์ก็มีลักษณะเหมือนกับพฤติกรรมของคนธรรมดานี่เองคือ  มีอารมณ์  ความรู้สึกรัก  โกรธ  เกลียด  ฯลฯ  เพียงแต่มีพลังอำนาจบางอย่างที่จะนำมาใช้ในทางที่ถูกต้องเท่านั้น
      บทบาทของพระอินทร์ในวรรณคดีไทยก็คือ  เมื่อมนุษย์ผู้มีบุญ  ผู้ใดเดือดร้อน  หรือได้รับความทุกข์ยากสำบาก  พระอินทร์ก็จะเสด็จลงมาช่วยบำบัดทุกข์ให้เสมอ  โดยรู้ได้จากการที่ทิพยอาสน์หรือพระแท่นบัณฑุกัมพลที่ประทับแข็งกระด้างขึ้น มา พระองค์จะเล็งทิพยเนตรสอดส่องดูมนุษย์โลกแล้วลงมาช่วยเหลือ
น่าสังเกตว่าพระอินทร์จะให้ความช่วยเหลือคนดีที่ตกทุกข์ได้ยากให้พ้นจากความ ทุกข์ทรมานและพบกับความสุข  โดยไม่จำเป็นต้องรอให้พระแท่นบัณฑุกัมพลแข็งกระด้างขึ้นมาก็ได้อย่างเช่นใน เรื่องสังข์ทอง  เมื่อพระอินทร์ช่วยนางรจนาและเจ้าเงาะให้พ้นทุกข์แล้ว  ก็ประสงค์จะให้ท้าวยศวิมลไปรับนางจันท์เทวีคืนมาอยู่วังตามเดิม  จึงไปปรากฏองค์ให้ท้าวยศวิมลเห็น
     นอกจากนี้พระอินทร์ยังช่วยเสริมสร้างความสามารถและฤทธิ์อำนาจให้กับตัวเอก  เช่น  มาท้าตีคลีพนันแล้วยอมแพ้พระสังข์  เพื่อให้ท้าสามนต์และราษฎรเมืองสามนต์ยอมรับในบารมีของพระสังข์
     สำหรับบทบาทของเทวดานั้นก็ปรากฏบ่อยครั้ง  ส่วนใหญ่จะเป็นการดลใจตัวละครให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  และเหตุการณ์นั้นทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล  เช่น  เทวดาดลใจท้าวสามนต์
     เทวดาดลใจนางรจนาตอนที่เลือกคู่คือ  “เทพไทอุปถัมภ์นำชัก นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง” และเจ้าเงาะเองก็บอกนางว่า “พี่อยู่ถึงนอกฟ้าหิมพานต์เทวัญบันดาลให้เที่ยวมา” การดลใจนี้เป็นการช่วยให้ตัวละครสมประสงค์ในการเลือกคู่มากกว่าอย่าง อื่น นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือตัวละครฝ่ายดีให้รอดพ้นอันตราย  เช่น  รุกขเทพที่รักษาพระไทรป้องกันพระสังข์ไม่ให้เป็นอันตราย  ตอนที่ถูกเสนาทุบด้วยท่อนจันทน์  อีกตอนหนึ่งคือช่วยย่นระยะทางให้นางจันท์เทวีมาตามพระสังข์ซึ่งถูกจับตัว
     ตอนที่พระสังข์ถูกถ่วงน้ำ  แม้จะไม่ได้ระบุไว้อย่างละเอียด  แต่การที่พระสังข์จะรอดชีวิตก็เท่ากับเทวดาได้ช่วยไว้นั่นเอง  แต่ไประบุไว้ว่าเทวดาดลใจท้าวภุชงค์ให้มาช่วยพระสังข์

นางพันธุรัต
     นางพันธุรัตเป็นยักษ์ใจดี  เลี้ยงดูพระสังข์และรักเหมือนลูก  แต่ความรักของนางกลับทำลายตัวนางเอง  เพราะเท่ากับว่าเมื่อพระสังข์  “ปีกกล้าขาแข็ง” แล้วก็หนีจากนางไป
     ผู้นิพนธ์ได้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างนางพันธุรัดกับพระสังข์ตั้งแต่แรก ที่ท้าวภุชงค์ส่งพระสังข์มาเป็นลูกคือ  โหรไม่เห็นด้วย  แต่นางไม่ฟังคำทักท้วงเพราะรักใคร่เอ็นดูพระสังข์เสียแล้ว  แต่วิตกว่าตนเป็นยักษ์  พระสังข์เป็นมนุษย์จะกลัวยักษ์  จึงสั่งให้พวกยักษ์จำแลงกายเป็นมนุษย์ทั้งหมด  ซึ่งสุนันทา  โสรัจจ์  วิจารณ์ไว้ว่า  “นางยักษ์เริ่มต้นด้วยการหนีความจริง เมื่อโหรทำนายว่าพระสังข์จะก่อความวิบัติให้นาง ก็ไม่ตัดไฟต้นลมเสียก่อน นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับฟังเหตุผลโมโหร้ายที่ถูกขัดใจ ถือเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่”
     นางพันธุรัตแปลงกายอำพรางไม่ให้พระสังข์รู้จนเวลาผ่านไปร่วมสิบปี  แต่นางก็กลัวว่าพระสังข์จะหนีไป  จึงคอยระวังอยู่ตลอดเวลา  แม้เวลาที่จะไปป่าก็ยังหลอกพระสังข์จนพระสังข์สงสัย  แต่เราจะสังเกตได้ว่า  ผู้นิพนธ์ได้กล่าวย้ำถึงความเป็นยักษ์ของนางอยู่ตลอดเวลา
     ถึงแม้จะเป็นยักษ์  นางพันธุรัตก็เป็นแม่ที่อุ้มชูพระสังข์มาเป็นเวลานานให้ความห่วงใยเสมอต้น เสมอปลาย  พระสังข์เองก็อดที่จะโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ไม่ได้  ครั้นพอเห็นพระสังข์ไม่ยอมลงมาหาแน่แล้ว  นางก็เขียนมหาจินดามนตร์ไว้ให้  เพื่อเป็นการเตรียมการให้พระสังข์ไปผจญกับอุปสรรคและแก้ไขอุปสรรคได้  การกระทำของนางคือการเสียสละเพื่อลูกอย่างแท้จริง




https://www.gotoknow.org/posts/520704

ประวัติที่มาของเรื่อง

  สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก ซึ่งเป็น นิทาน เรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดก ของท้องถิ่น ในภาคเหนือและภาคใต้มีสถานที่ที่กล่าวถ...